ประวัติ ของ ท้าวสุจริตธำรง (นาค)

ท้าวสุจริตธำรง เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2355 มีนามเดิมว่า นาค ซึ่งมีบรรพบุรุษเชื้อสายจีน[1] และรับราชการฝ่ายในมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายวิเสทกลางสำรับหวานที่ ท้าวทองพยศ รับพระราชทานเบี้ยหวัด 2 ชั่ง

ท่านได้แต่งงานกับหลวงอาสาสำแดง (แตง) มีบุตรธิดารวม 9 คน (ธิดาคนที่ 1 และ 2 ถึงแก่กรรมตั้งแต่วัยเยาว์) ได้แก่

  1. ไม่ปรากฏนาม (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
  2. ไม่ปรากฏนาม (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
  3. เจ้าพระยาสิริรัตนมนตรี (หงส์ สุจริตกุล) สมรสกับคุณหญิงตาด ศิริรัตนมนตรี มีบุตรธิดา 16 คน มีธิดาคือหม่อมใหญ่ในกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
  4. ท้าววนิดาพิจาริณี (เหม สุจริตกุล)
  5. สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 4 มีพระโอรส-ธิดา 6 พระองค์
  6. พระยาราชภักดี (โค สุจริตกุล) สมรสกับคุณหญิงทองศุข ราชภักดี มีบุตรธิดา 2 คน เป็นบิดาของท้าววนิดาพิจาริณี (เจ้าจอมเพิ่ม ในรัชกาลที่ 5) และเป็นพระอัยกา (ปู่) ของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในรัชกาลที่ 6[2] และพระสุจริตสุดา พระสนมในรัชกาลที่ 6[2][3]
  7. นายรองพันธ์ (หล่อ สุจริตกุล)
  8. ปุก สุจริตกุล (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
  9. เหมือน สุจริตกุล (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)

นอกจากนี้ท้าวสุจริตธำรงยังได้อุปการะธิดาของสามีที่มิได้เกิดด้วยกัน ชื่อ สุด เปรียบประดุจบุตรแท้ ๆ ของตน และสุดได้ติดตามสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องสาวเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังด้วย[4]

ท้าวทองพยศ (นาค) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2434 อายุ 79 ปี ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น ท้าวสุจริตธำรง มีบรรดาศักดิ์เสมอด้วยท้าวสนองพระโอษฐ์ ถือศักดินา 1000[5]